วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

แนวโน้มการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ในอนาคต


แนวโน้มการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ในอนาคต


ด้านเทคโนโลยี คงจะมุ่งเน้นไปทางฟิล์มบางมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนวัสดุจะถูกกว่า และไม่ต้องแย่งตลาดกับอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์อื่นๆ โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องใช้ Crystalline Silicon เป็นหลัก
ด้านการผลิต คาดว่าจากปี ค.ศ. 1998-2000 กำลังผลิตทั่วทั้งโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวต่อปี ซึ่งแยกตามเทคโนโลยีต่าง ได้ ดังนี้
  • Crystalline Silicon 150% จาก 215 เมกะวัตต์ เป็น 340 เมกะวัตต์
  • Amorphous Silicon จะเพิ่มปริมาณขึ้นประมาณ 180% จาก 50 เมกะวัตต์ เป็น 90 เมกะวัตต์
  • สารประกอบอื่นๆ เช่น Copper Indium Diselenide และ Cadmium Telluride จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 320% จาก 20 เมกะวัตต์ เป็น 65 เมกะวัตต์
ด้านการตลาด ตลาดใหม่สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์โดยทั่วไปน่าจะเป็นในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะยังมีระบบไฟฟ้าชนบทที่ต้องพัฒนาอีกจำนวนมาก แต่มีข้อจำกัดที่ต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้นหากรัฐยังคงเป็นเจ้าของกิจการไฟฟ้า และยังต้องรับผิดชอบระบบไฟฟ้าในชนบทในหลายกรณี การเลือกใช้ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อขยายระบบจำหน่ายไปสู่ชนบท จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าระบบสายส่ง แต่หากมีการเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้า ซึ่งถ้ากิจการไฟฟ้าถูกแปรรูปให้เอกชนไปแล้ว โอกาสของการขยายตลาดระบบเซลล์แสงอาทิตย์จะลดน้อยลง เนื่องจากเอกชนส่วนใหญ่ มักจะมุ่งค้าทำกำไรในระยะสั้นๆ เป็นหลัก
สำหรับตลาดของการจ่ายเข้าระบบ (Grid Connected) เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะการลงทุนต่อกิโลวัตต์ จะต่ำกว่าระบบอิสระ (Stand Alone) ซึ่งต้องใช้แบตเตอรี่และต้องเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 7-10 ปี และหากมีการ “ร่วมลงทุน” ระหว่างภาครัฐกับผู้ใช้งาน ก็จะเป็นส่วนเสริมให้ตลาดของระบบฯ ขยายตัวรวดเร็วขึ้น
ในช่วง 6-7 ปี ที่ผ่านมา ในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ประสบความสำเร็จของโครงการประเภท Rooftop Grid Connected เป็นอย่างมาก และกำลังนำไปสู่การเตรียมขยายผล เช่น โครงการ 1 ล้านหลัง ของสหรัฐอเมริกา และ 1 แสนหลัง ของกลุ่มประเทศยุโรป และ 7 หมื่นหลัง ของประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้นไฟฟ้าที่ผลิตได้ในช่วงกลางวัน ก็จะสอดคล้องกับความต้องการไฟฟ้าช่วงสูงสุด ดังนั้น Grid Connected ก็จะช่วยชะลอการลงทุนการสร้างโรงไฟฟ้า ประเภท “Peak Shaving” ได้ส่วนหนึ่งด้วย
สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ตลาดของ “การต่อเข้าระบบ-Grid Connected” จะมีอนาคตที่ดี มีทางที่จะขยายผลเป็นรูปธรรม และทำให้เกิดการผลิตขนาดใหญ่ (Mass Production) ส่งผลทำให้ราคาการลงทุน ลดลงสู่ระดับ ที่น่าพอใจในอนาคตอันใกล้
สำหรับตลาดเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทยในอนาคต มีความได้เปรียบที่จะเติบโตมากขึ้น ทั้งในด้านผู้ใช้และผู้ประกอบการ เพราะนโยบายจากภาครัฐได้ให้การสนับสนุนอย่างชัดเจน ซึ่งจากผลผลสำเร็จของโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา นักวิชาการไทยได้มีโอกาสเพิ่มประสบการณ์มากขึ้น ทั้งในเรื่องการติดตั้งใช้งานและการพัฒนาระบบฯ ด้วยตนเอง ตลอดจนความร่วมมือที่เข้มแข็ง ของกลุ่มนักวิชาการพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทำให้เชื่อมั่นได้ว่าหากนโยบาย จากภาครัฐยังคงมีความชัดเจน และให้การสนับสนุนอย่างจริงจังดังเช่นที่ผ่านมา และตลาดเซลล์แสงอาทิตย์ โดยเฉพาะกรณีไฟฟ้าชนบท (Off Grid) ซึ่งเป็นพื้นที่ทุรกันดาร และไม่มีสายไฟฟ้าเข้าถึง ยังมีอยู่เป็นจำนวนมากในทุกภูมิภาค ของประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ไม่ยาก ในการก้าวไปสู่การดำเนินธุรกิจเซลล์แสงอาทิตย์ ในระดับอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจ ของนักลงทุนต่างประเทศ ที่จะเข้ามาทำตลาดของไทยให้เติบโตขึ้น เมื่อประกอบกับประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี ด้วยพื้นฐานที่มั่นคงและกลไก / ความสัมพันธ์ด้านการตลาดที่ดีอยู่แล้วในภูมิภาคนี้ โอกาสที่นักลงทุน จะขยายผลไปยังตลาดของประเทศเพื่อนบ้าน จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น